ท่องเที่ยวตามคำขวัญ ย้อนรอยประวัติศาสตร์...จังหวัด‘กาฬสินธุ์’
![ท่องเที่ยวตามคำขวัญ ย้อนรอยประวัติศาสตร์...จังหวัด‘กาฬสินธุ์’](https://s.isanook.com/tr/0/rp/r/w700h420/ya0xa0m1w0/aHR0cHM6Ly9zLmlzYW5vb2suY29tL3RyLzAvdWQvMjc5LzEzOTk2MjcvY292ZXIuanBn.jpg)
ท่องเที่ยวตามคำขวัญ ย้อนรอยประวัติศาสตร์...จังหวัด‘กาฬสินธุ์’
![ททท.](https://s.isanook.com/tr/0/uc/0/4602/tourismthailand.gif)
สนับสนุนเนื้อหา
ท่องเที่ยวตามคำขวัญ ย้อนรอยประวัติศาสตร์...จังหวัด‘กาฬสินธุ์’
จังหวัดกาฬสินธุ์ หนึ่งในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล โดยมีความเจริญทางด้านอารยธรรมอันเก่าแก่ เดิมทีเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติละว้า ต่อมาได้มีการอพยพผู้คนจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนบริเวณแก่งสำโรงและลำน้ำปาว
บทความนี้จะพาคุณไปท่องเที่ยวตามคำขวัญของขังหวัดกาฬสินธุ์ ‘หลวงพ่อองค์ดำลือเลื่อง เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี’ คำขวัญใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2557
1.‘หลวงพ่อองค์ดำลือเลื่อง’ … วัดกลาง
วัดกลาง เป็น พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิด สามัญ ตั้งอยู่เลขที่ 47 ถนนกาฬสินธุ์ ตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2387 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2480 และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญเมื่อ วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 7 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา เป็นวัดที่มีเฉพาะพื้นที่ตั้งวัดเท่านั้น ไม่มีธรณีสงฆ์ หรือ กัลปนา โดยประดิษฐานพระพุทธสัมฤทธิ์นิรโรคันตราย หรือหลวงพ่อองค์ดำ
![](https://s.isanook.com/tr/0/rp/r/w700/ya0xa0m1w0/aHR0cHM6Ly9zLmlzYW5vb2suY29tL3RyLzAvdWQvMjc5LzEzOTk2MjcvYmF0Y2hfMV93YXRfa2xhbmcuanBn.jpg)
ภายในวัดมีพระอุโบสถที่สร้างต่อเติมจากพระอุโบสถหลังเก่า เป็นอาคารทรงไทยประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา บานประตูไม้แกะสลักเป็นภาพพุทธประวัติ ส่วนหน้าต่างแกะสลักเป็นชาดกเรื่องต่าง ๆ ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถมีทวารบาลปูนปั้น ภายในพระอุโบสถเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรชาดก บริเวณศาลาใกล้กับพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ดำ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 20 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปลักษณะงดงามที่พระแท่นมีรอยจารึกเป็นภาษาไทยโบราณ สร้างในสมัยพระเจ้าคูนาขาม พระชัยสุนทร (กิ่ง) ได้นำมาเป็นพระพุทธรูปศรีเมือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หากปีใดฝนแล้งประชาชนชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปออกแห่ขอฝนเสมอ
2.เมืองฟ้าแดดสงยาง...ที่‘อำเภอกมลาไสย’
![](https://s.isanook.com/tr/0/rp/r/w700/ya0xa0m1w0/aHR0cHM6Ly9zLmlzYW5vb2suY29tL3RyLzAvdWQvMjc5LzEzOTk2MjcvYmF0Y2hfMl9tdWFuZ19kYWRfZmFfc29uZ195YW5nLmpwZw==.jpg)
ตั้งอยู่ที่บ้านเสมา ตำบลหนองแปง เมืองฟ้าแดดสงยางหรือที่เรียกเพี้ยนเป็นฟ้าแดดสูงยาง บางแห่งเรียกเมืองเสมาเนื่องจากแผนผังของเมืองมีรูปร่างคล้ายใบเสมา เป็นเมืองโบราณที่มีคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น ความยาวของคันดินโดยรอบประมาณ 5 กิโลเมตร คูน้ำจะอยู่ตรงกลางคันดินทั้งสอง จากหลักฐานโบราณคดีที่ค้นพบ ทำให้ทราบว่ามีการอยู่อาศัยภายในเมืองมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แล้วได้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นในสมัยทวาราวดีราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 ดังหลักฐานทางพุทธศาสนาที่ปรากฏโดยทั่วไปทั้งภายในและนอกเมือง เช่น ใบเสมาหินทราย จำหลักภาพเรื่องชาดก และพุทธประวัติจำนวนมาก บางส่วนเก็บไว้ที่วัดโพธิ์ชัยเสมารามซึ่งอยู่ภายในเมือง บางแห่งอยู่ในตำแหน่งดั้งเดิมที่พบ และบางส่วนก็นำไปเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น นอกจากนั้นยังมีซากศาสนสถานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปภายในเมืองและนอกเมือง เช่น พระธาตุยาคู และกลุ่มเจดีย์บริเวณศาสนสถานที่โนนวัดสูง โนนฟ้าหยาด และโนนฟ้าแดด กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2479
3.วงเวียน‘โปงลางเลิศล้ำ’
![](https://s.isanook.com/tr/0/rp/r/w700/ya0xa0m1w0/aHR0cHM6Ly9zLmlzYW5vb2suY29tL3RyLzAvdWQvMjc5LzEzOTk2MjcvYmF0Y2hfM193b25nX3dhaW5fcG9uZ19sYW5nLmpwZw==.jpg)
วงเวียนโปงลาง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์เมืองกำเนิดโปงลาง เครื่องดนตรี โดยศิลปินแห่งชาติ นายเปลื้อง ฉายรัศมี ผู้ประดิษฐ์ขึ้นจากเกราะหรือกะลอสมัยโบราณนำมาประยุกต์ ทำเป็นไม้ 13 ท่อน ทำจากไม้มะหาด เรียงร้อยเป็นเครื่องตี ปัจจุบันโปงลางแพร่หลายไปทั่วประเทศรวมถึงต่างประเทศ ที่คนไทยไปอาศัยอยู่และนำไปเผยแพร่ วงเวียนโปงลางสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกเมื่อครั้ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงดนตรี เพลงลายเต้ยโขง และลายลมพัดพร้าว ณ วิทยาลัยนาฎศิลปกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533
4.วัฒนธรรมผู้ไทย...ที่‘โคกโก่ง’
![](https://s.isanook.com/tr/0/rp/r/w700/ya0xa0m1w0/aHR0cHM6Ly9zLmlzYW5vb2suY29tL3RyLzAvdWQvMjc5LzEzOTk2MjcvYmF0Y2hfNF9rb2dfa29uZy5qcGc=.jpg)
หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทโคกโก่ง เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กอยู่เชิงเขามีชาวผู้ไทอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งอยู่ตำบลกุดหว้า ได้รับคัดเลือกจากจังหวัดให้เป็นหมู่บ้านนำร่องในด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวผู้ไท ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถพักแรมแบบโฮมสเตย์ เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตและประเพณีของชาวบ้าน เช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีเหยา (การรักษาผู้ป่วย) รับประทานอาหารพื้นบ้านแบบพาแลง ชมการแสดงศิลปะพื้นบ้าน และเดินป่าศึกษาธรรมชาติพรรณไม้และพืชสมุนไพรท้องถิ่น ชมน้ำตกตาดสูง-ตาดยาว ตามเส้นทางเดินป่าในวนอุทยานภูผาวัว สอบถามข้อมูลได้ที่ผู้ใหญ่ขวัญชัยโทร. 08 7232 6056
5.‘ผ้าไหมแพรวา’...บ้านโพน
![](https://s.isanook.com/tr/0/rp/r/w700/ya0xa0m1w0/aHR0cHM6Ly9zLmlzYW5vb2suY29tL3RyLzAvdWQvMjc5LzEzOTk2MjcvYmF0Y2hfNV9zbGlrLmpwZw==.jpg)
ผ้าไหมแพรวา ได้รับการกล่าวขานว่า “แพรวา ราชินีแห่งไหม” แพรวาหรือผ้าแพรวาเป็นผ้าทอมือ ผ้าพื้นเมืองหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีสีสันและลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูไท นิยมทอด้วยไหมทั้งผืน โดยปกติแล้ว หญิงสาวชาวภูไททอผ้าแพรวาไว้สำหรับห่มเป็นสไบคลุมไหล่ หรือโพกศีรษะ จึงมักใช้ในโอกาสที่เป็นงานบุญ งานมงคล หรืองานประเพณีต่างๆ กลุ่มทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็น “สหกรณ์ทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน” ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาของสมาชิกใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคำม่วง อำเภอสมเด็จ อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอสามชัย เพื่อจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่ศิลปาชีพบ้านโพน
6.‘ผาเสวยภูพาน’
![](https://s.isanook.com/tr/0/rp/r/w700/ya0xa0m1w0/aHR0cHM6Ly9zLmlzYW5vb2suY29tL3RyLzAvdWQvMjc5LzEzOTk2MjcvYmF0Y2hfNl9wYXNhdmV1eS5qcGc=.jpg)
ขอบคุณรูปจาก www.kalasin.go.th
ผาเสวย ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน ในเขตบ้านแก้งกะอาม ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสมเด็จ 17 กิโลเมตร ผาเสวย เดิมชาวบ้านเรียกว่า “ผารังแร้ง” ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ประทับเสวยพระกระยาหารกลางวันบริเวณผาแห่งนี้ ในวโรกาสที่ทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ผาเสวย” มาตั้งแต่บัดนั้น เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.
7.เขื่อนเก็บน้ำ...‘มหาธารลำปาว’
![](https://s.isanook.com/tr/0/rp/r/w700/ya0xa0m1w0/aHR0cHM6Ly9zLmlzYW5vb2suY29tL3RyLzAvdWQvMjc5LzEzOTk2MjcvYmF0Y2hfN19sdW1wYW8uanBn.jpg)
ขอบคุณรูปจาก www.kalasin.go.th
เป็นเขื่อนดิน สูงจากท้องน้ำ 33 เมตร สันเขื่อนยาว 7.8 กิโลเมตร กว้าง 8 เมตร นับเป็นเขื่อนดินยาวที่สุดในประเทศไทย เริ่มก่อสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2506 เพื่อปิดกั้นลำน้ำปาวและห้วยยางที่บ้านหนองสองห้อง ตำบลลำปาว อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ทำให้เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำแฝดทางด้านเหนือเขื่อนจึงได้ขุดร่องเชื่อมระหว่างอ่างทั้งสองให้เป็นอ่างเดียวกัน ซึ่งตัวอ่างน้ำเก็บน้ำได้ 1,430ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อน5,960 ตารางกิโลเมตร ทางเข้าเขื่อนแยกจากทางหลวงสายกาฬสินธุ์ - มหาสารคามที่กิโลเมตรที่ 10 ประมาณ 26 กิโลเมตรเขื่อนลำปาวเป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาอุทกภัยและเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะนอกจากนั้นยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำทางบกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
8.ขุดคุ้ย‘ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี’...ที่ภูกุ้มข้าว
![](https://s.isanook.com/tr/0/rp/r/w700/ya0xa0m1w0/aHR0cHM6Ly9zLmlzYW5vb2suY29tL3RyLzAvdWQvMjc5LzEzOTk2MjcvYmF0Y2hfOF9kaW5vLmpwZw==.jpg)
ศูนย์วิจัยฟอสซิสไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว ตั้งอยู่ที่อำเภอสหัสขันธ์ เปิดให้ชม นิทรรศการเรื่องราวเกี่ยวกับไดโนเสาร์ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว กรมทรัพยากรธรณี อำเภอสหัสขันธ์ โทร. 0 4387 1014, 0 4387 1394, 0 4387 1613
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น